เมื่อประมาณราวปี พ.ศ. 500 คือหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 500 ปีแล้ว พระราชากรีกนาม พระเจ้ามิลินท์ ผู้เกรียงไกรได้แผ่ขยายอำนาจมาถึงประเทศอินเดีย และเข้าปกครองเมืองสาคละ (ปัจจุบันอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย คือ แคว้นแคชเมียร์) พระองค์ไม่เพียงแต่ปรีชาสามารถในการรบเท่านั้น แต่ยังมีสติปัญญาล้ำเลิศ ทรงโปรดศึกษาศาสนาปรัชญาต่างๆ รวมทั้งพุทธศาสนาด้วย พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ต้องใช้ปัญญาอย่างยิ่ง ในการทำความเข้าใจ พระเจ้ามิลินท์จึงโปรดที่จะถกเถียง ซักถาม และโต้แย้งเพื่อความงอกงามทางปัญญา จึงได้เที่ยวป่าวประกาศโต้ปุจฉา-วิสัชนา กับเหล่าพระภิกษุและสมณพราหมณ์ต่างๆ แต่ก็หาผู้ตอบคำถามให้กระจ่างแจ้งแก่พระองค์ไม่ได้ จนกระทั่งได้มาพบกับพระหนุ่มนาม พระนาคเสน ผู้ซึ่งเจนจบและแตกฉานในพระไตรปิฎก อีกทั้งเฉลียวฉลาดปราดเปรื่องหาภิกษุใดเทียบได้ พระเจ้ามิลินท์จึงได้คู่ปุจฉาวิสัชนาอย่างเข้มข้น พระนาคเสนสามารถตอบข้อสงสัยต่างๆ นานาในเรื่องราวชีวิตมนุษย์ของพระเจ้ามิลินท์ได้อย่างถ่องแท้ จนในที่สุดพระเจ้ามิลินท์ ผู้ซึ่งไม่ได้เลื่อมใสในพุทธศาสนามาก่อนก็ได้ยอมถวายตนเป็นพุทธ มามกะและได้บรรลุธรรมขั้นสูงอีกทั้งยังได้ทรงสร้างพระพุทธรูปอง ค์แรกในพุทธศาสนาขึ้นมาอีกด้วย เรื่องราวที่ปุจฉา – วิสัชนา กันนั้นเปรียบเหมือนการจุดคบไฟขึ้นในความมืด เผยให้เห็นทางสว่างของชีวิต และได้ถูกรวบรวมขึ้นเป็นคัมภีร์สำคัญเรียกว่า มิลินทปัญหา เป็นเวลากว่า 2,000 ปี มาแล้ว ได้รับการยอมรับนับถืออย่างมากมายในหมู่ชนต่างๆ ทั่วโลกมาจนทุกวันนี้